วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553
พระนครคีรี เป็นพระราชวังใน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2402บนเขาสมณ หรือเขามไหศวรรย์ ซึ่งเป็นภูเขาที่มียอดใหญ่ 3 ยอด มีความสูง 95 เมตร จากระดับน้ำทะเล พระนครคีรีเป็นที่ประทับในฤดูร้อนเมื่อเสด็จประพาสเพชรบุรี โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เป็นแม่กองก่อสร้าง และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ บนเขาทั้ง 3 ยอดนี้ว่า พระนครคีรี พระนครคีรีประกอบด้วยพระที่นั่งต่าง ๆ คือพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา พระตำหนักสันถาคารสถาน หอพิมานเพชรมเหศวร หอจตุเวทปริตพงษ์ และหอชัชวาลเวียงชัย ใน พ.ศ. 2404 พระองค์จึงเสด็จมาประทับที่พระนครคีรีอย่างเป็นทางการ และเสด็จมาประทับแรมอีกหลายครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประทับที่พระนคร คีรีเป็นครั้งคราว แต่หลังจากรัชสมัยของพระองค์เป็นต้นมา พระนครคีรีไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์อีก ในปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์พระนครคีรี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม
วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 92 เมตร เดิมเรียกว่า เขาสมนหรือเขาคีรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัย ที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเพชรนิสัยศรีสวัสดิ์ ปลัดเมือง เพชรบุรีเป็นนายงานก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 ทรงพระราชทานนามว่า พระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้
พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่าง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิคผสมสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ ๆ 3 ยอดด้วยกัน ดังนี้-ยอดเขาด้านทิศตะวันออก บริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณาราม ภายในพระอุโบสถ มีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่ง บนผนัง ทั้งสี่ด้าน เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว เป็นวัดประจำ พระราชวังพระนครคีรี เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพฯ ภายในวัดพระแก้วประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดเล็ก ประดับด้วยหินอ่อน ด้านหลังเป็น พระพุทธเสลเจดีย์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นหอระฆังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก
-เขายอดกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร มีความสูง 40 เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน จากจุดนี้ สามารถมองเห็นพระที่นั่งต่าง ๆ บนยอดเขาอีก 2 ยอด รวมทั้งทิวทัศน์ของตัวเมืองเพชรบุรีได้อีกด้วย
-ยอดเขาด้านทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับอันได้แก่ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชชวาลเวียงชัย หอพิมานเพชรมเหศวร ตำหนักสันถาคารสถาน หอจตุเวทปริตรพจน์ ศาลาทัศนา-นักขัตฤกษ์
นอกจากนี้แล้วยังมีโรงรถ โรงม้า ศาลามหาดเล็ก ศาลาลูกขุน ศาลาต่าน ศาลาเย็นใจ ทิมดาบ โรงครัว ตามแบบพระราชวังทั่วไป รอบพระราชวังมีป้อมล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศคือ ป้อมทศรถป้องปากทางทิศตะวันออก ป้อมวรุฬหกบริรักษ์ ทางทิศใต้ ป้อมวิรุฬปักษ์ป้องกันทางทิศตะวันตก และป้อมเวสสุวรรณรักษาทางทิศเหนือ กรมศิลปากรได้ใช้บางส่วนของพระราชวังบนยอดเขาด้านทิศตะวันตกนี้จัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องราชูปโภคของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปหล่อโลหะสำริด และทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่าง ๆ ในพระที่นั่ง และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวัน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชม (รวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี) นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมเขาวังได้ โดยการเดินขึ้นหรือโดยสารรถรางไฟฟ้า ชมทั้งหมด) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ (032) 425-600
เขาบันไดอิฐ เป็นเขาขนาดย่อมมียอดสูง 121 เมตร อยู่ห่างจากเขาวังประมาณ 2 กิโลเมตร บนยอดเขามีวัดเก่าแก่ สมัยอยุธยา ชื่อวัดเขาบันไดอิฐ อันเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมาแต่เดิม ในสมัยปลาย กรุงศรีอยุธยานั้น เจ้าอธิการแสงแห่งวัดเขาบันไดอิฐ มีชื่อเสียงในด้านกรรมฐานมาก สมเด็จพระเจ้าเสือเคยทรงฝากตัวเป็นศิษย์ นอกจากวัดเขาบันไดอิฐ ถ้ำแรก คือ "ถ้ำประทุน" มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำทั้งสองด้าน ลึกเข้าไปจะเป็นถ้ำ "พระเจ้าเสือ" ที่ชื่อเช่นนี้ เพราะมีเรื่องเล่ากันมาว่า พระเจ้าเสือได้เสด็จมาหาอาจารย์แสง และได้ถวายพระพุทธรูปยืนปางห้าม สมุทรสูงประมาณ 2 เมตร และได้ประดิษฐานไว้ที่ถ้ำนี้ ถ้าหากเดินต่อลึกเข้าไปทางด้านใต้จะมีบันได ลงสู่ถ้ำอีกคูหาหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ ด้วยมีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ มีพุทธลักษณะที่งดงามและตรงซอกผนังถ้ำมีประทุนเรือทำด้วยไม้เก่าแก่มาก เป็นประทุนเรือที่พระเจ้าเสือถวายอาจารย์แสง นอกจากถ้ำที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เขาบันไดอิฐยังมีถ้ำอีกมากมาย เช่น ถ้ำพระอาทิตย์ พระจันทร์ ถ้ำสว่างอารมณ์ ถ้ำช้างเผือก และถ้ำดุ๊ค ซึ่งมีชื่อตามดุ๊คโยฮันฮัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองปอร์นสวิค ผู้เคยมาเยือนเพชรบุรีและมาเที่ยวถ้ำแห่งนี้
ถ้ำเขาหลวง อยู่บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ 5 กิโลเมตร จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำเขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมียอดสูงสุดเพียง 92 เมตร มีหินงอกหินย้อยสี-สันสวยงาม ภายในมีปล่องที่แสงอาทิตย์ สามารถส่องเข้ามาภายในถ้ำได้ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น สำหรับถ้ำเขาหลวงถือเป็นถ้ำใหญ่ และสำคัญที่สุดใน เมืองเพช ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่เสด็จประพาสมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 4 พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดถ้ำเขาหลวงมาก ได้ทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมา แต่โบราณภายในถ้ำนี้หลายองค์ด้วยกัน และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไปในถ้ำ ตรงทางเข้า เชิงเขาหลวงด้านขวามือมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า วัดถ้ำแกลบ ปัจจุบันชื่อ "วัดบุญทวี" ซึ่งเป็นวัดใหญ่ น่าชมมาก เพราะท่านเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นช่าง ได้ออกแบบและสร้างศาลาการเปรียญ ที่ใหญ่โต ประตูโบสถ์เป็นไม้สลักลายสวยงามมาก วัดถ้ำแกลบนี้มีตำนานเล่าว่า ปากถ้ำแกลบที่วัดนี้คือ ทางเข้าสู่เมืองลับแลอันเป็นเมืองที่มีแต่หญิงสาวทั้งนั้น แต่ก็เป็นเพียงตำนานของชาวเมืองเพชร นับร้อยปีมาแล้ว.